เสวนา “ถึงเวลา..ที่เราต้องอยู่ร่วมกับ COVID-19...แล้วหรือยัง?”

หมวดหมู่: ผลงาน
ขานรับ วิกฤตโควิด-19 คนไทยต้องปรับตัวทุกด้านเพื่อให้ได้ใช้ชีวิตอยู่รอด ปลอดภัย
 
เมื่อวันที่ 21มี.ค.65 สื่ออาสาประชาชน โดยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้จัดเสวนา “ถึงเวลา..ที่เราต้องอยู่ร่วมกับ COVID-19...แล้วหรือยัง?”
เพื่อเป็นข้อมูลและเสนอแนะแนวทางในการปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตในสถานการณ์ที่คนไทยต้องอยู่กับโควิด 19
นพ. อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงเดือนนี้ถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงที่เราต้องต่อสู้กับโควิด 19 จนถึงเดือนมิถุนายน เป็นช่วงที่เราสามารถชนะโควิด-19แล้ว ถือเป็นช่วงสุดท้ายที่เรากำจัดโควิดได้หมด และนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 65 คนไทยจะได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติตามแผนที่ประกาศไว้
‘การฉีดวัคซีนก็เป็นเป้าหมายที่อยากให้ประชาชนฉีด Booster เข็ม3 อย่างน้อยร้อยละ 60 โดยเน้นผู้สูงอายุเนื่องจากมีอัตราการเสียชีวิตค่อนข้างสูง และขอความร่วมมือประชาชนในการล้างมือ การเว้นระยะห่าง และอยากให้ประชาชนทำให้ร่างกายตัวเองแข็งแรง และกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เลือกที่จะกินและดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอ และแม้ว่าโควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่นแล้ว แต่ก็อยากให้คนไทยไม่ประมาทในการใช้ชีวิต เพราะอาจจะทำให้การระบาดซ้ำมากกว่าเดิม’
 
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) กล่าวว่า เริ่มต้นเราต้องรู้ก่อนว่าอยู่ในความเสี่ยง เช่นผู้ป่วยที่ต้องเดินทางไปฟอกไต กลุ่มนี้กลายเป็นว่าต้องเปลี่ยนเป็นแบบผู้ป่วยติดเชื้อและอาจมีภาวะซึมเศร้าโดยไม่รู้ตัวซึ่งเราต้องเริ่มต้นในการกระตุ้นแรงจูงใจ แต่กลุ่มที่เราต้องกังวล คือกลุ่มเปราะบาง แต่ยังมีอีกกลุ่มที่เราต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้มากที่สุด กลุ่มหมอ พยาบาล บุคลากรแนวหน้า แต่ปัจจุบันแผนกที่ไม่เคยปิดเลยตั้งแต่มีโควิด 19 เข้ามาคือแผนกจิตเวช ขณะนี้สังคมตระหนักถึงสุขภาพจิตเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องติดตามมากที่สุดในตอนนี้
‘วิธีการป้องกันในแง่ของจิตวิทยา ถ้าเกิดติดเชื้อโควิด ก็ให้รู้ตัวว่าติดก็รีบตั้งสติ สิ่งสำคัญคือเราต้องมีความสมดุล ขอให้ทุกท่านตระหนักสิ่งที่เราจะปรับให้เป็นโรคประจำถิ่นและอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้ ต้องพยายามปรับตัวถึงจะเชื่องช้าแต่ในที่สุดก็จะเข้าสู่ภาวะปกติ’
ขณะที่ ดร. ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า การปรับให้โควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ในเชิงบวก ตามที่ ศบค.พยายามหาวิธี ช่วยให้ธุรกิจกลางคืน ร้านอาหาร อยู่ได้แบบไม่บอบช้ำ การปรับการป้องกันแบบ test & go ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีในการไม่ทำให้ธุรกิจบอบช้ำ ทำอย่างไรให้ตรึงราคาน้ำมันที่ประชาชนพออยู่ได้ เป็นโจทย์ที่ต้องจัดการ แต่ทั้งนี้การดูแลประชาชนในเรื่องของสุขภาพ คือความมั่นคงของประเทศ และจะทำให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนตามมา
 
ด้าน ดร.สง่า ดามาพงศ์ ที่ปรึกษากรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข และผู้ทรงคุณวุฒิ สสส.
กล่าวว่า การที่เราจะอยู่ร่วมกับโควิด 19 ได้อย่างไรให้มีความสุข โดยใช้หลัก 5 มิติ ประกอบด้วย การยอมรับ การยอมรับการแพร่ระบาดของโควิด 19 , การต้องมีสติในการใช้ชีวิต , การมีปัญญา การแก้ไขและการปรับเปลี่ยนของการใช้ชีวิตประจำวัน , การเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคโควิด 19 ให้ได้และต้องรอดไปด้วยกัน
รวมถึง จะรู้ต่อไปว่าจะอยู่ได้อย่างไร ‘การทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกาย และการพักผ่อนให้เพียงพอ จะทำให้เราสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายให้แข็งแรง’
โดย ดร.ธนกร ศรีสุขใส ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ กล่าวว่า มุมมองที่อยู่กับข้อมูลข่าวสารเห็นพัฒนาการทางสังคมมายาวนาน อย่าหวังว่าโลกและสังคมจะกลับไปเหมือนเดิม แต่ต้องอยู่กับมันให้ได้ , ต้องเปลี่ยนแปลงดูตัวเองว่าจะอยู่แบบไหน ซึ่งทางกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ย้ำเสมอว่าการนำเสนอข่าวสารที่ดีคือการสร้างวัคซีนทางปัญญาให้กับสังคม
‘การรับข้อมูลข่าวสารต้องระมัดระวัง อย่าพึงเชื่อคำแค่ ได้ฟัง หรือคำพูดเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาบริบทด้วย เพื่อจะได้ไม่เข้าใจผิดในการนำเสนอข่าวสาร’
อย่างไรก็ตาม กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ยังจะต้อง รณรงค์ส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง และส่งเสริมให้สื่อนำเสนอข่าวอย่างมีจรรยาบรรณ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งกองทุนต่อไป
 
 
 
 
 
 

15 กรกฎาคม 2565

ผู้ชม 316 ครั้ง

Engine by shopup.com